กระตุ้นผลิตผลไม้คุณภาพปลอดภัยผ่านมาตรฐาน Good Agricultural Practice (GAP)
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 52
กระตุ้นผลิตผลไม้คุณภาพปลอดภัยผ่านมาตรฐาน Good Agricultural Practice (GAP)
ในปี 2551 ที่ผ่านมา สถาบันเกษตรกรในภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคใต้ สามารถรวบรวมและจำหน่ายผลไม้คุณภาพให้กับห้าง Modern Trade ผู้ส่งออก และผู้ค้าภายในประเทศ ปริมาณรวม 25,737 ตัน คิดเป็นมูลค่า 425 ล้านบาท โดยเฉพาะผลไม้ที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ห้าง Modern Trade และผู้ส่งออก จะรับซื้อทั้งหมด ซึ่งจะกำหนดราคารับซื้อที่สูงกว่าผลไม้ทั่วไป และในปี 2552 นี้ ทางสถาบันเกษตรกรในภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคใต้ วางแผนการรวบรวมและจำหน่ายผลไม้คุณภาพปลอดภัยให้กับผู้ค้าต่าง ๆ ไว้ประมาณ 30,000 ตัน
ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของ นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ว่า ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีนโยบายที่จะกระตุ้นให้สมาชิกสหกรณ์ชาวสวนผลไม้ หันมาให้ความสำคัญในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพื่อช่วยยกระดับทั้งในด้านคุณภาพและราคาสินค้า รวมทั้งป้องกันปัญหาผลไม้ราคาตกต่ำและไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด จึงได้จัดโครงการอบรมหลักสูตร “การสร้างจิตสำนึกต่อความปลอดภัย ด้านสินค้าผลไม้ของสถาบันเกษตรกร” (Awareness to Food Safety for Fruit Product in Agriculturist Institution) แก่เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์และตัวแทนสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ ให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถแนะนำและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสินค้าผลไม้คุณภาพที่มีความปลอดภัยตามมาตรฐาน Good Agricultural Practice (GAP) กับเกษตรกรสมาชิกสถาบันเกษตรกรที่ปลูกผลไม้สามารถผลิตผลไม้คุณภาพที่ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สถาบันเกษตรกรประสบความสำเร็จในด้านการดำเนินธุรกิจรวบรวมและจำหน่ายผลไม้คุณภาพตามแผนที่วางเอาไว้
ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้ถึงหลักการมีความรู้ความเข้าใจและความสำคัญของความปลอดภัย ในการผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพ รวมทั้งเรียนรู้ถึงขั้นตอนและวิธีการผลิตผลไม้คุณภาพที่มีความปลอดภัย ในสถาบันเกษตรกร วิธีการส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์ผลิตสินค้าเกษตรที่ดีและเหมาะสม โดยนำความรู้ที่ได้ไปแนะนำและส่งเสริมให้กับเกษตรกรสมาชิกสถาบันเกษตรกรของตนเอง สามารถผลิตสินค้าผลไม้ที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน GAP ให้สมาชิกสหกรณ์ไปขยายผลต่อ โดยการอบรมครั้งนี้ได้เข้าไปดูงานการผลิตกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออกของสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด เพื่อเป็นกรณีศึกษาอีกด้วย
“เป้าหมายของการจัดอบรมให้แก่สมาชิกสหกรณ์ชาวสวนผลไม้ คือ นำเสนอให้เห็นว่า หากเกษตรกรสามารถผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานความปลอดภัยนั้น จะทำให้ผลผลิตของเกษตรกรเป็นที่ยอมรับของตลาด และมีตลาดรับซื้อแน่นอน ในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน GAP ให้คำนึงถึงการผลิตเรื่องการใช้สารเคมี โดยเชิญเจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตรมาบรรยายเรื่องผลกระทบจากการใช้สารเคมีที่มีต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคในอีก 10-20 ปี โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นจะรณรงค์เรื่องมาตรฐานสินค้าและตรวจเข้มผลไม้ที่จะส่งไปจำหน่าย” นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีหลักการทำเกษตร GAP สูงกว่าของไทย มาตรฐานสูงและละเอียดมาก ซึ่งเราเอาแนวคิดวิธีการผลิต การใช้ปุ๋ย การจดบันทึก มาปรับใช้ ตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการจัดอบรมเตรียมความพร้อมเรื่องการพัฒนาคุณภาพผลผลิตเพื่อจะเจาะตลาดผลไม้ระดับบนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เริ่มจากการสร้างจิตสำนึกให้กับผู้นำสหกรณ์ โดยเชิญผู้นำสหกรณ์มาอบรม เพื่อนำความรู้และแนวคิดดังกล่าวไปรณรงค์กับสมาชิก ซึ่งในแต่ละจังหวัดได้มีการจัดเตรียมงบประมาณเพื่อสนับสนุนให้สหกรณ์ใช้สำหรับการดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้ว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=189962&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า