เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 52
ปัจจุบัน “หนังดิบฟอก” ซึ่งเราต้องสั่งนำเข้าจากตลาดต่างประเทศจำนวนมากนั้น นับวันจะปรับราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการหันมาใช้หนังเทียมประเภท “เซมิพียู” แทน เมื่อผ่านการใช้งาน 3-4 เดือน จะกรอบแตกหัก มีความยืดหยุ่นน้อย ลอกตัวได้ง่าย
ปัญหาดังกล่าว ด.ช.พรวสุ พงศ์ธีระวรรณ นางสาวธัญพิชชา พงศ์ชัยไพบูลย์ นางสาวอารดา สังขนิตย์ กลุ่มนักเรียน โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี จึงช่วยกันคิดค้นพัฒนา “เซลลูโลสเจล” ซึ่งทำจากสับปะรด เพื่อใช้แทนหนังเทียม โดยมี อาจารย์เฉลิมพร พงศ์ธีรวรรณ และ อาจารย์สุวารี พงศ์ธีรวรรณ คอยให้คำปรึกษา
อาจารย์สุวารี เล่าให้ฟังว่า กลุ่มเด็กนักเรียนได้นำ ภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่น อย่างการทำตัวหนังตะลุงที่เป็น ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกสร้างเม็ดเงินเข้าสู่จังหวัดสุราษฎร์ธานีจำนวนมาก นำมาคิดวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงรู้ว่ามีราคาแพงมากขึ้น อีกทั้งหลังนำมาเจาะจะเป็นรอยเข็มทะลุ ซึ่งมองดูแล้วไม่สวยงาม เขาจึงมองหาวัตถุดิบอื่นเพื่อเป็น ทางเลือก และพบว่า วุ้นมะพร้าว หากปล่อยทิ้งให้แห้งจะมีลักษณะเหมือนหนัง ทำให้ “ปิ๊งไอเดีย”
จากนั้นจึงเริ่มค้นคว้าทดสอบด้วยการเพาะเลี้ยงวุ้นมะพร้าวด้วยเชื้อ Acetobacter xylinum หลังผ่านขบวนการกระทั่งแห้ง เมื่อนำมาทำแผ่นพาชเมนท์ (แผ่นเซลลูโลสแห้ง) จะมีความหนาไม่ สม่ำเสมอ บางตำแหน่งเป็นโพรงอากาศ และยังทนต่อแรงดึงได้น้อยไม่เหมาะที่จะนำมาใช้งาน
จึงต้องเอามาเพาะเลี้ยงใหม่ ครั้งนี้เติม น้ำตาล และ กรด เพิ่มเติม เพื่อปรับสภาพให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย พร้อมทั้งเอา น้ำต้มจากเปลือกสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย ซึ่งมี น้ำตาลฟรุกโตสสูง มาเพาะเลี้ยงเชื้อ Aceto bacter xylinum เติมน้ำมะพร้าว กรดแอซิตริก แอมโมเนียมซัลเฟต น้ำตาลทราย ในอัตราส่วนที่เหมาะสม ต้มด้วยความร้อนนาน 30 นาที
แล้วทิ้งไว้ให้เย็นจึงเติมแบคทีเรียลงไปปล่อยทิ้งนาน 7 วัน พบว่าสามารถสร้างแผ่นเซลฯได้เต็มที่ มีความหนาเฉลี่ย 2.45 cm นำไปทำให้แห้งด้วยการอบที่อุณหภูมิ 80ํC นาน 30 ชั่วโมง ให้ น้ำระเหยจึงได้แผ่น เซลลูโลสเจล ที่มีลักษณะ เนื้อเรียบแน่น ไม่มีโพรงอากาศ เพื่อให้ เกิดความเหนียวจึงฟอกด้วยเทนนินซึ่งมีอยู่ในเปลือกเงาะ และยังเป็นการเพิ่มความคงทนต่อเอนไซม์ หรือปฏิกิริยาเคมีอื่นๆที่อาจทำให้เน่าเปื่อยหดตัวง่าย
การฟอกดังกล่าว นอกจากช่วยเพิ่มความเหนียวยังช่วยให้สามารถนำไปใช้งานได้ดีขึ้น และหลังนำไปแช่น้ำพบว่ามีการบวมหนาขึ้นเพียง 5.55 แต่ถ้าไม่ฟอก จะเกิดการบวมตัวมีความหนาเพิ่มมากถึง 54.54 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าการฟอกเทนนินช่วยทำให้มีความเสถียร ไม่บวม หรือเปลี่ยนสภาพไปจากเดิมมากนัก
ส่วนทางด้านคุณสมบัติ หลังนำมาทดสอบเปรียบเทียบกับหนังวัว พบว่า “แผ่นเซลลูโลสฟอกเทนนิน” จะทนต่อแรงดึงใกล้ เคียงกับหนังดังกล่าว เมื่อได้ผลแน่ชัดทางทีมวิจัยน้อยจึงนำมาทำงานประดิษฐ์ตกแต่งทำกรอบรูป แกะสลัก หัตถกรรมต่างๆ สามารถทดแทนหนังวัวได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีราคาที่ถูก กว่าหนังวัวถึง 70 เปอร์เซ็นต์
ผลงานนี้เป็นการวิจัยเพื่อนำมาใช้ในชุมชน ยังไม่ออกมาเป็นอุตสาหกรรม ฉะนั้นผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 08- 1894-3248 ในวันและเวลาที่เหมาะสม
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=122708