'คราม' ราชาแห่งสีย้อมพร้อมด้วยสรรพคุณทางยา
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 52
'คราม' ราชาแห่งสีย้อมพร้อมด้วยสรรพคุณทางยา
อันว่า “คราม” นั้น เป็นพืชชนิดหนึ่งที่ให้สี...เรียกว่าสีคราม...สมัยก่อนโลกยังไม่ฟุ่มเฟือยเช่นทุกวันนี้ ชุดนักเรียนของนักเรียนแต่ละคนอาจมีแค่คนละ 2 ชุดเท่านั้น เสื้อนักเรียนชายหญิงที่เป็นสีขาวหลังเสร็จสิ้นกระบวนการซักเรียบร้อยแล้ว นิยมนำ “คราม” มาแช่เป็นน้ำสุดท้ายก่อนนำขึ้นตาก เพื่อให้เสื้อที่เป็นสีขาวมอ ๆ ดูสดใสขึ้น ด้วยการทำให้เป็นสีครามอ่อน ๆ แต่บางคนก็ใส่ครามมากเกินไปจนเกินพอดีทำให้เสื้อเป็นสีเข้มมากเกิน...ขนาดนั้นยังกล้าใส่ไปโรงเรียนอีก...ครามที่นำมาแช่ผ้านี้น่าจะมิใช่ครามจากพืช หากเป็นครามที่สังเคราะห์ขึ้นมา
ปัจจุบันคนส่วนหนึ่งหันมาหาธรรมชาติมากขึ้น หลังจากที่หันหลังให้ธรรมชาติไปพักใหญ่ สีต่าง ๆ ที่ได้มาจากต้นไม้ชนิดต่าง ๆ เริ่มถูกนำมาใช้อีกครั้ง ต้นไม้แต่ละชนิดให้สีไม่เหมือนกัน เช่น ฝาง ใช้แก่นและเนื้อไม้ย้อมผ้าไหมและผ้าฝ้าย จะให้สีแดงสวยสดงดงาม ในตำรายาไทยใช้แก่นฝางเป็นยาบำรุงโลหิต ขับประจำเดือนใช้เป็นยาภายนอกรักษาน้ำกัดเท้าและแก้คุดทะราด
มะเกลือ เป็นพืชอีกชนิดที่นำมาทำสีย้อม ต้นที่โตเต็มที่ สูงได้ถึง 20 เมตร เปลือกต้นสีดำแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ผลกลม ผิวเกลี้ยง สีเขียว จะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่ มะเกลือจะให้สีดำ มะเกลือยังมีคุณค่าทางสมุนไพรที่คนไทยโดยทั่วไปต่างก็รู้จักกันเป็นอย่างดีคือผลมะเกลือดิบเป็นยาขับพยาธิได้ แต่ต้องระวังเพราะอาจทำให้ตาบอดได้ นอกจากนี้ยังมีแก่นไม้ขนุน ขมิ้น ดอกคำฝอย ก็ให้สีเช่นกันคือสีเหลือง
ส่วนคราม ข้อมูลจากหนังสือสมุนไพรไทย เพื่อสุขภาพและความงาม โดย ผศ.พิเชษฐ เวชวิฐาน แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร บอกไว้ดังนี้ ครามเป็นไม้พุ่มสูงไม่เกิน 1.2 เมตร ลำต้นกลม สีเขียว แตกกิ่งก้านน้อย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงเวียนสลับ รูปรีหรือรูปไข่กลับ ปลายใบมน โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบบาง สีเขียว ดอกออกเป็นช่อตั้งที่ซอกใบ ดอกย่อยขนาดเล็กสีชมพูหรือสีแดง รูปดอกถั่ว ผลเป็นฝักกลมยาว ยาว 5-8 ซม. เมล็ดเล็ก สีครีมออกเหลือง
คนนิยมนำครามมาย้อมผ้าเช่นกัน ผศ.อนุรัตน์ สายทอง แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร บอกไว้ในบทความเรื่อง เสน่ห์คราม ว่า คราม ถือกันว่าเป็น “ราชาแห่งสีย้อม” (King of the dyes) เป็นที่รู้จักกันตั้งแต่วัฒนธรรมโบราณซึ่งในสมัยโบราณเนื่องจากสีครามเป็นสีหายากจึงใช้กันสำหรับเฉพาะราชวงศ์และคนชั้นสูง คุณสมบัติพิเศษอีกประการที่มีงานวิจัยทั้งในอเมริกา และญี่ปุ่นก็คือ ผ้าที่ย้อมจากครามสามารถป้องกันผิวของผู้สวมใส่จากรังสีอัลตราไวโอเลตได้
ด้านคุณสมบัติทางสมุนไพรของครามจากคนท้องถิ่น ผศ.อนุรัตน์ บอกว่า ถ้าถูกมีดบาดหรือเป็นแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก สามารถนำเนื้อครามทาเพื่อสมานแผลได้ ผ้าที่ย้อมครามก็มีคุณสมบัติทางยาเช่นกัน...เพียงนำผ้าครามไปนึ่งให้อุ่นประคบตามรอยช้ำก็สามารถบรรเทาอาการได้
คราม นอกจากนำมาย้อมผ้าแล้ว ยังสามารถนำไปทำประโยชน์อื่น ๆ ได้อีกมากเช่น การใช้ประโยชน์ทางยา ใบเป็นยาดับพิษ แก้ไข้ตัวร้อนและแก้ปวดศีรษะ ลำต้น เป็นยาแก้กระษัย แก้ไข้ตัวร้อน แก้ปวดศีรษะ เปลือกใช้แก้พิษงู แก้พิษฝีและแก้บวม
ในด้านความสวยความงามนั้น น้ำคั้นจากใบสดของครามช่วยบำรุงเส้นผม ป้องกันผมหงอก สารสกัดครามทั้งต้น (ยกเว้นใบ) เป็นส่วนผสมในสีที่ใช้ย้อมผม
นับว่าครามเป็นของดีมีคุณค่าสารพันประโยชน์ที่มีอยู่ในบ้านเรา ฉะนั้นควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและน่าจะมีการศึกษาวิจัยในการใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ให้มากกว่านี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของพืชที่มีอยู่ในท้องถิ่น
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=190419&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า