อนาคตธุรกิจโคนมในเขตปฏิรูปฯ พลิกฟื้นอาชีพโคนมก้าวสู่มืออาชีพ
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 52
อนาคตธุรกิจโคนมในเขตปฏิรูปฯ พลิกฟื้นอาชีพโคนมก้าวสู่มืออาชีพ
อาชีพโคนม เป็นอาชีพพระราชทานที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยมาอย่างยาวนาน เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้อย่างน่าสนใจและนับเป็นทางเลือกของเกษตรกรไทยในภาวะวิกฤติในปัจจุบัน ล่าสุดสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้จัดทำโครงการพลิกฟื้นธุรกิจโคนมในเขตปฏิรูปที่ดินขึ้นมา เพื่อพัฒนาและส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตโคนมไทยอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปริมาณการผลิต การลดต้นทุน การพัฒนามาตรฐานไปจนถึงการตลาดจำหน่าย ที่ต้องสะอาด มีมาตรฐานและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวถึงแนวทางในการพลิกฟื้นธุรกิจโคนมในเขตปฏิรูปที่ดินว่า ส.ป.ก. ได้ประสานความร่วมมือกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และกรมปศุสัตว์ ในการพัฒนาการเลี้ยงโคนมของเกษตรกร โดยเฉพาะการปลดแม่โคนมที่อายุเกินออกจากฝูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนของเกษตรกร ในเบื้องต้นวางแผนจะรวมกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินฯ จัดตั้งเป็นนิคมวัวนมในอนาคต เพื่อสร้างระบบภาคการผลิตสินค้าเกษตรที่เชื่อมโยงระหว่างกันให้มากขึ้น
โดย ส.ป.ก.จะเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในเขตปฏิรูปที่ดินผ่านกองทุนปฏิรูปที่ดินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ คาดว่าจะมีเงินสนับสนุนในการดำเนินงานดังกล่าวราว 3 ล้านบาท พร้อมกับการประสานงานด้านการหาแหล่งจำหน่ายอาหารสัตว์ในราคาถูก เน้นในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ในเขตปฏิรูปที่ดินใกล้เคียงและมีศักยภาพ เพื่อเป็นการเชื่อมโยงกลุ่มการผลิตสินค้าเกษตรที่เกี่ยวเนื่องกันซึ่งจะช่วยลดต้นทุนภาคการผลิตได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ อ.ส.ค. และกรมปศุสัตว์จะเข้ามาช่วยในการดูแลการเลี้ยงโคนม การปรับปรุงฟาร์มเข้าสู่ระบบมาตรฐานและการปรับปรุงคุณภาพน้ำนมดิบ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด
เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวด้วยว่าปัญหาหลักของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม คือ ต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งข้าวโพด หญ้าสด รวมถึงการเลี้ยงวัวนมในฝูงที่มากเกินไป มีแม่อายุมากอยู่ในฝูง ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย หากสามารถจัดกลุ่มกำหนดพื้นที่การเลี้ยงโคนม พร้อมกับสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมกับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบผ่านกลุ่มสหกรณ์ หรือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาราคาอาหารสัตว์ได้ในระดับหนึ่ง
ขณะเดียวกัน การสนับสนุนให้เกษตรกรปรับลดจำนวนโคนมในฝูง ปลดระวางแม่โคอายุมากออกจากฝูง ด้วยการประสานโรงฆ่าสัตว์รับซื้อแม่โคนมในราคาที่เหมาะสม เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ จากผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่าเกษตรกรมีโคนมที่ด้อยคุณภาพค่อนข้างมาก ที่ยังมีปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ทั้งยังขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์และหลายพื้นที่ขาดแคลนแหล่งน้ำ
อย่างไรก็ตาม ทางโครงการได้เตรียมแผนเร่งปรับโครงสร้างฝูงโคนมใหม่ โดยจะคัดโคนมที่ไม่มีคุณภาพออกจากฝูงร้อยละ 20 หรือประมาณ 400 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่โคที่มีอายุมาก ให้นมน้อย และโคผสมที่ติดลูกยาก เป็นต้น สำหรับปัญหาขาดแคลนอาหารสัตว์โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง การใช้ฟางข้าวเข้ามาเสริมน่าจะเป็นทางออกที่ช่วยให้เกษตรกรผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้ นอกจากนี้ยังจะส่งเสริมให้นำวัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่ อาทิ ข้าวโพดและมันสำปะหลัง มาผลิตเป็นอาหารข้นเพื่อเสริมในการเลี้ยงโคนมด้วย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง
การส่งเสริมอาชีพโคนมในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ที่ต้องการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการยึดเป็นอาชีพ สร้างรายได้ในยุคภาวะวิกฤติในปัจจุบัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=190420&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า