โครงการฟาร์มตัวอย่าง 'กำไรของแผ่นดิน'
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 52
โครงการฟาร์มตัวอย่าง 'กำไรของแผ่นดิน'
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงให้ผู้ช่วยเลขาธิการพระราชวัง จัดทำโครงการฟาร์มตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ชาวบ้านได้มีงานทำ วันหนึ่งได้ทรงถามว่า “แล้วสร้างให้ประชาชนแล้วหรือยัง” มีกราบทูลว่า “ได้สร้างให้แล้วประมาณ 40 ราย” ตรัสต่อว่า ทำไมน้อย ประชาชนมีความเดือดร้อนกันมาก” ได้กราบทูลต่ออีกว่า “เนื่องจากฟาร์มเพิ่งเริ่มตั้งขึ้นมา จึงมีปริมาณงานยังน้อยนัก ถ้าสร้างประชาชนเพิ่มมากขึ้นจะทำให้ฟาร์มขาดทุน” เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงได้ยินความว่า ขาดทุน จึงรับสั่งว่า “อย่ามาพูดเรื่องกำไรขาดทุนกับฉันนะ ฉันต้องการให้คนจนมีงานทำมาก ๆ ขาดทุนของฉัน คือกำไรของแผ่นดิน” และทรงสั่งสอนต่ออีกว่า “การที่ทำให้คนยากจนในชุมชนนั้น ๆ มีงานทำ พวกเขามีรายได้ มีเงินเลี้ยงครอบครัว ไม่ต้องไปเป็นโจร ไม่ต้องไปเป็นขโมย ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดไม่ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ไปเผาป่า ตำบลนั้น อำเภอนั้น จังหวัดนั้น ก็มีความสุข มีความสงบสุข ประเทศชาติก็มีความสุข มีความสงบ นี่แหละคือกำไรของแผ่นดิน”
และนี่คือที่มาของโครงการฟาร์มตัวอย่างที่เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศในตอนนี้และรวมถึงโครงการพัฒนาพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผหาจิ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย อีกหนึ่งโครงการด้วยซึ่งเป็นโครงการที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงรับไว้เป็นโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่เมื่อก่อนหน้านี้และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการก็ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยกองทัพภาคที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการ มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น การประกอบอาชีพการเกษตร การพัฒนาฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำลำธาร ร่วมมือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนองพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร ร่วมมือกับทางกรมปศุสัตว์จัดทำโครงการพัฒนา และกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์ วันก่อนมีโอกาสเดินทางไปกับคณะของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เพื่อเยี่ยมชมความคืบหน้าในการดำเนินงานของพื้นที่ ซึ่งพบว่ามีหลายอย่างน่าสนใจทีเดียว
ภายในโครงการมีศูนย์ฝึกศิลปาชีพพิเศษ ประกอบด้วย การทำเครื่องเงินของชาวเขา เครื่องจักสาน การทอผ้าจากใยกัญชง “เงิน” ถูกนำมาทำเป็นเครื่องประดับ และได้รับความนิยมจากชาวเขาเผ่าเย้าเป็นกลุ่มแรก โดยประดิษฐ์ขึ้นด้วยเครื่องมือทางภูมิปัญญาท้องถิ่น และขยายความนิยมไปยังเผ่าอื่น ๆ ซึ่งคนมีเงินและมีฐานะดีเท่านั้นที่จะสามารถเรียนรู้การทำเครื่องเงินได้ อีกทั้งในสมัยก่อนจะใช้เม็ดเงินเรียกกันว่าเงินฮาง และเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนสินค้าและถือว่าเงินฮางเป็นเงินสินสอดในการแต่งงาน โดยฝ่ายหญิงจะเรียกสินสอดเป็นเงินฮาง จำนวน 12 ฮาง 1 ฮาง เท่ากับ 22 บาท ในปัจจุบันก็ยังใช้เงินฮางเป็นสินสอดกันอยู่
อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจของพื้นที่แห่งนี้ก็คือโครงการศิลปาชีพบ้านร่มฟ้าทอง ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ฝึกสอนการจักสาน การทอผ้า กระเป๋า หมวก และที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ก็คือ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาจากต้นกัญชง
กัญชง เป็นกลุ่มพืชพวกปอป่านเจริญเติบโตได้ดีช่วงอุณหภูมิ 14-27 องศาเซลเซียส มีการปลูกกันอยู่ในหมู่ชาวเขา เพื่อผลิตเป็นเส้นใย สำหรับการทอผ้าเรียกว่า ผ้าใยกัญชง เส้นใยกัญชงเป็นเส้นใย ที่มีความเหนียวที่สุดในโลก การเก็บ เกี่ยวก็ไม่ยุ่งยากมากนัก เมื่อต้นกัญชงอายุประมาณ 3-4 เดือน สูงประมาณ 6 เมตร จะตัดเอามาทั้งต้น แล้วนำมาลอกเปลือกตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำมาแช่ให้ยุ่ย แล้วดึงเอาเส้นใยไปย้อมสีและนำไปทอเป็นผืนผ้าต่อไป คุณสมบัติของผ้ากัญชงนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นผ้าที่เกิดรอยยับง่ายก็ตาม แต่ด้วยโครงสร้างของเส้นใยที่สามารถลอกออกเป็นชั้นคล้ายหัวหอม ทำให้สามารถผลิตเป็นผ้าบาง ๆ ได้เท่าที่ต้องการ สวมใส่เย็นสบายในฤดูร้อน ให้ความอบอุ่นกว่าผ้าลินิน ดูดซับความชื้นได้ดีกว่าไนลอน และสามารถซักด้วยเครื่องซักผ้าได้อีกด้วย
นอกจากนี้ในงานด้านปศุสัตว์ทางโครง การฯ ยังมีการเลี้ยงแกะเพื่อเอาขนมาถักทอเป็นผืนผ้าซึ่งดำเนินการเองภายในโครงการฯ ทุกขั้นตอนตั้งแต่การเลี้ยงไปจนถึงการตัดขน แล้วนำไปซัก โดยนำขนแกะที่ทำการคัดเลือกไว้แล้ว มาล้างน้ำเปล่าจนสะอาด นำมาซักกับแชมพูสระผมก่อนจึงนำมาล้างแล้วนำมาแช่กับครีมนวดผม หรือน้ำยาปรับผ้านุ่มประมาณ 15 นาที บิดพอหมาด ๆ จากนั้นนำไปตากให้แห้งที่แผ่นสังกะสี ซึ่งความร้อนจากสังกะสี จะทำให้ขนแกะแห้งเร็วขึ้น
จากนั้นก็นำมาตีฟู โดยการนำขนแกะที่ซักและตากแห้งแล้ว มาเลือกเอาเศษใบไม้ออกก่อนตีฟูด้วยเครื่องมือตีฟู แล้วนำไปปั่นเป็นเส้นด้าย ซึ่งเส้นด้ายที่ปั่นเสร็จแล้ว จะมีลักษณะคล้ายเส้นด้ายที่มาจากเส้นฝ้ายและไหม งานด้านการปศุสัตว์ภายในโครงการแห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2543 เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จเยี่ยมโครงการศิลปาชีพบ้านร่มฟ้าทองฯ ในครั้งนั้นทรงทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎร และทรงมีพระราชดำริให้ทดลองการเลี้ยงแกะเพื่อนำขนแกะมาทำการทอผ้า
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ ของโครง การฯ มีการพัฒนาเพื่อเพิ่มความหลากหลายที่ตรงตามความต้องการของตลาดมากขึ้น อันนำมาซึ่งรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำของประชาชนในพื้นที่มากขึ้น.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=190693&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า