เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 52
สำนักฝนหลวง-กองทัพอากาศ สุดเจ๋ง พัฒนาฝนหลวงสูตรใหม่ ระบุเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าถวาย “ในหลวง” ก่อนนำไปใช้ดับแล้ง เผยเป็นพลุดูดความชื้น “แคลเซียมคลอไร” ชี้ทำฝนเทียมได้มากกว่าสูตรเดิมถึง 150 เท่าแถมประหยัดต้นทุนกว่า ด้าน “รมว. เกษตรฯ” หวั่นภัยแล้ง กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสำรวจ-ช่วยเหลือด่วน ขณะที่ ร่องความกดอากาศสูงกำลังแรง ปะทะลมตะวันตก ทำพัทยา-บางละมุง-สัตหีบ หมอกหนาทึบ
เมื่อวันที่ 11 ก.พ. นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานทุกกรม โดยเฉพาะกรมชลประทาน สำนักฝนหลวง กรมปศุสัตว์ ได้วางมาตรการในการรับมือกับภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น จากการสำรวจคาดว่าพื้นที่ที่จะประสบภัยแล้งที่น่าเป็นห่วงมี 4 จังหวัด คือ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี แพร่ และอุตรดิตถ์ ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดระดมเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชน โดยคาดว่าทั้ง 4 จังหวัดจะมีปริมาณพืชผลทางการเกษตร ที่อาจจะได้รับความเสียหายกว่า 58,000 ไร่
โดยกรมชลประทานได้มีการเตรียมพร้อมเรื่องเครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชน ส่วนกรมปศุสัตว์ ได้มีการเตรียมพร้อมในเรื่องอาหารสัตว์ ขณะที่สำนักฝนหลวงและกองบินเกษตร ตนได้กำชับให้สำรวจพื้นที่ หากพื้นที่ใดมีความเหมาะสมในการปฏิบัติการฝนหลวง ก็ให้ดำเนินการได้ทันที เพื่อไม่ให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน รวมถึงเพิ่มความชุ่มชื้นเพื่อป้องกันปัญหาไฟป่าโดยขณะนี้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ 8 ศูนย์ ซึ่งเชื่อว่าจะพอเพียงกับการรับมือกับภัยแล้งและไฟป่าที่อาจเกิดขึ้น
ส่วนนายไพโรจน์ ลิ้มจำรูญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯเปิดเผยว่า สำนักฝนหลวงการบินเกษตรร่วมกับกองทัพอากาศประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาสารฝนหลวงสูตรใหม่มาตั้งแต่ปี 2547 โดยคิดค้นพลุสารดูดความชื้นสูตรแคลเซียมคลอไรด์ ซึ่งจะปล่อยอนุภาคของสารที่เผาไหม้แล้วเข้าไปทำปฏิกิริยากับเมฆอุ่นจนทำให้เกิดฝน จากเดิมที่ต้องการใช้โปรยสารเคมีจากเครื่องบินเท่านั้น
ซึ่งการใช้พลุดังกล่าวสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการโปรยสาร 30 เปอร์เซ็นต์และมีประสิทธิภาพทำให้ฝนตกได้ดีกว่า สามารถทดแทนการใช้สารเคมีสูตรเดิมได้ถึง 150 เท่า ช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้งเพิ่มความชุ่มชื่นในอากาศ และลดปัญหาการเกิดไฟป่าได้ดี ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯเตรียมนำสูตรการทำฝนหลวงดังกล่าวทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพิจารณาก่อนนำไปใช้ในฤดูแล้งนี้
ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้เกิดหมอกหนาทึบเข้าปกคลุมในพื้นที่เมืองพัทยา อ.บางละมุง และอ.สัตหีบ โดยจากการสังเกตตามเส้นทางต่าง ๆ พบว่า บริเวณถนนสุขุมวิทช่วงตั้งแต่พัทยาเหนือมุ่งหน้าชลบุรี มีหมอกควันค่อนข้างจะหนาแน่น จนยวดยานที่สัญจรไปมาบนถนนดังกล่าวต้องเปิดไฟหน้าและชะลอความเร็ว ทำให้การใช้รถใช้ถนนในหลายเส้นทางของเมืองพัทยา ติดขัดเป็นระยะ ๆ เพราะทัศนวิสัยในการมองเห็นสั้นลง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ กระทั่งช่วงสายหมอกดังกล่าวจึงค่อย ๆ จางลง
ด้านนายจารุวัฒน์ ศรีชวนะ หัวหน้าสถานีกรมอุตุนิยมวิทยาเมืองพัทยา เปิดเผยว่า สำนักพยากรณ์อากาศกรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงาน ลักษณะอากาศทั่วไป โดยระบุว่าในวันนี้ (11 ก.พ.) บริเวณความกดอากาศสูงยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีหมอกหนาในตอนเช้า และจะเกิดขึ้นได้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ส่วนกรณีของเมืองพัทยา อ.บางละมุง และอ.สัตหีบ เกิดจากบริเวณร่องความกดอากาศสูงกำลังแรง แพร่ลงมาปะทะกระแสลมตะวันตกเป็นเหตุให้มีหมอกหนาถึงหนามากทั่วพื้นที่เมืองพัทยาและใกล้เคียง ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะเป็นไปอีกอย่างน้อยประมาณ 1-2 วัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=190693&NewsType=1&Template=1